พิจารณาจากองค์ประกอบที่ทำงานสุขภาพ ตามที่ได้นำเสนอในบทที่แล้ว จะเห็นว่า ทุกสถานประกอบการก็คงมีกิจกรรม ที่เป็นการเกื้อหนุนสุขภาพ และความสุขสบายของพนักงาน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ว่าองค์กรใด จะเห็นความสำคัญของพนักงาน และมีทรัพยากร ความรู้ ความเข้าใจที่จะจัดกิจกรรม หรือสร้างองค์กรที่น่าอยู่
ในบทนี้ จะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ กรณีศึกษา และตัวอย่างกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ ในสถานประกอบการ 7 กรณี ดังนี้
1. นโยบาย และกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ของปูนซีเมนต์ไทย (ท่าหลวง จ.สระบุรี)
โรงงานปูนที่ท่าหลวง มีพนักงานกว่า 400 คน แต่งานทางด้านสุขภาพจะต้องดูแล พนักงานของบริษัทในเครือที่อยู่ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งรวมแล้วประมาณกว่า 2,000 คน โดยสรุปมีนโยบาย และกิจกรรมที่ดำเนินการ ดังนี้
- นโยบายสุขภาพ / ความปลอดภัย บริษัทมีนโยบายอาชีวอนามัย และความปลอดภัย นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และมุ่งดูแลให้พนักงานมีสุขภาพอนามัยที่ดี
- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ / เคมี / รังสี ฯลฯ บริษัทได้มีการทำ Risk Assessment และออกมาตรการควบคุม และได้รับการรับรอง มอก. / ISO-14001 จาก สมอ. ตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2539 และในปัจจุบันทางบริษัทได้ยื่นขอรับการรับรอง ระบบ มอก. / ISO 18000 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ที่จะขอรับการตรวจประเมิน
- สิ่งแวดล้อมทางสังคม การสื่อสารถึงพนักงานได้จัดให้มีการออกวารสาร ภายในองค์กรเป็นประจำ ระบบเสียงตามสายภายในโรงงาน รายการคุยกันระหว่างอาหารว่าง ระหว่างพนักงาน ระดับปฏิบัติการ กับพนักงานระดับจัดการ ระบบข้อเสนอแนะที่เปิดโอกาส ให้พนักงานได้เสนอความคิดเห็น ระบบพี่เลี้ยง ให้ความช่วยเหลือพนักงานใหม่ สวัสดิการด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน การให้ยืมเงินในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่เสียดอกเบี้ย บริการบ้านพักตากอากาศ เงินช่วยเหลือเมื่อสมรส และเมื่อมีบุตร เงินช่วยเหลือค่าทำศพ และมีศูนย์กีฬาให้พนักงานได้ใช้ ในการออกกำลังกายเล่นกีฬา เป็นต้น
- ทักษะส่วนบุคคลด้านสุขภาพ - คึวามปลอดภัย มีการอบรมพนักงาน ในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ การดูแลรักษาตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน - ความดันโลหิตสูง อาหารเพื่อสุขภาพ การอบรมจิตสำนึกในเรื่องการทำงานอย่างปลอดภัย สำหรับพนักงาน และผู้รับเหมาที่เข้าใหม่ การสอนวิธีวิเคราะห์อุบัติเหตุ (Job Safety Analysis - JSA) การฝึก KYT เพื่อบ่งชี้อันตราย การสนทนาความปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล การอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้ร การฝึกซ้อมป้องกัน และระงับอัคคีภัย และการขับขี่รถจักรยานยนต์ อย่างปลอดภัย เป็นต้น
- การบริการสุขภาพแก่พนักงาน - ครอบครัว มีการติดตามการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลมชัก และวัณโรคปอด โดยมีการติดตามให้มารับการรักษา อย่างต่อเนื่อง การให้ภูมิคุ้มกันโรคที่ป้องกันได้ แก่พนักงาน และครอบครัว
- ความสัมพันธ์กับชุมชนรอบๆ โรงงาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ เพื่อให้บริการกับชุมชนในด้านต่างๆ มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตามที่ชุมชนต้องการ และเป็นประโยชน์ การให้ทุนการศึกษา และทุนอาหารกลางวัน กองทุนสนับสนุนการเพิ่มพูนความรู้ของครูในชุมชน การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และสร้างเตาเผาขยะ
- การสร้างเสริมพลังกลุ่มต่างๆ มีงบประมาณในการสนับสนุน เช่น ชมรมกีฬา ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง ชมรมดนตรี ชมรมถ่ายภาพ ชมรมท่องเที่ยว ชมรมค่ายอาสาพัฒนา
2. กิจกรรมสุขภาพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)
การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นองค์ชนาดใหญ่มาก มีพนักงานประมาณ 35,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเมือง ชนบท และป่าเขา
ฝ่ายการแพทย์และอนามัย ของ กฟผ. มีภารกิจในการให้บริการทางการแพทย์ และทางสาธารณสุข แก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และครอบครัว โดยมีกิจกรรมหลักคือ การตรวจรักษาโรค บริการทางทันตกรรม การควบคุม และป้องกันโรคต่างๆ และโรคที่เกิดจากการปฏิบัติงาน ส่งเสริมสุขภาพอนามัยและฟื้นฟูสุขภาพ และงานสาธารณสุขต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่
- งานตรวจสุขภาพ
- ตรวจสุขภาพทั่วไป ให้แก่ผู้สมัครงาน ให้ใบรับรองแพทย์แก่ผู้ปฏิบัติงาน
- ตรวจสุขภาพทั่วไปให้ผู้ปฏิบัติงาน ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย
- ทดสอบสมรรถภาพร่างกายให้กับพนักงานขับรถ และควบคุมเครื่องจักร นักกีฬา นักดำน้ำ และพนักงานบำรุงรักษาสายส่ง
- อนามัยเคลื่อนที่ตรวจสุขภาพ และรักษาโรคให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค
- งานสุขาภิบาล
- สุขาภิบาลอาหาร ตรวจ และควบคุมร้านอาหารใน กฟผ. ทั้งในสถานที่ และอบรมผู้ประกอบการ
- สุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำตามสถานที่ต่างๆ ของ กฟผ. มาทำการตรวจวิเคราะห์
- สุขาภิบาลอ่างเก็บน้ำ เก็บตัวอย่างน้ำ ทั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำ และเขื่อน เพื่อมาวิเคราะห์คุณภาพ
- การจัดที่พักอาศัยของพนักงานให้สะดวกสบาย
- งานควบคุมโรคติดต่อ
- ควบคุมไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โดยการพ่นยาฆ่ายุง และให้ภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน
- ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยการกำจัดสุนัข และให้บริการวัคซีน
- กำจัดสัตว์และแมลงนำโรค เช่น หนู ยุง แมลงวัน เป็นต้น
- งานอาชีวอนามัย
- ตรวจสุขภาพพิเศษ ได้แก่ ตรวจการได้ยิน สมรรถภาพของปอด ตรวจตา และการมองเห็น และตรวจทางพิษวิทยา
- เฝ้าระวังอันตรายจากรังสี
- งานคอมพิวเตอร์
- งานสุขศึกษา
- เผยแพร่สุขศึกษา โดยใช้เอกสาร จัดบอร์ดความรู้ หรือให้คำปรึกษา
- จัดอบรม - บรรยาย เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในหลักสูตร การปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิตเบื้องต้น โรคที่เกิดจากการงานต่างๆ ฯลฯ
- งานนิทรรศการ
- งานบริการสุขศึกษา ให้ยืมวิดีโอ สไลด์ อุปกรณ์โสต
- งานสาธารณสุขมูลฐาน
- จัดอบรม อสม. กฟผ. เพื่อโครงการแพทย์ทางสื่อสาร มากกว่า 600 คน
- นิเทศงาน อสม. กฟผ. ที่ได้รับการอบรมไปแล้ว
- ออกข่าวสาร อสม. กฟผ.
- งานกิจกรรมอื่นๆ
- รับบริจาคโลหิต ร่วมกับสภากาชาดไทย
- จิตเวชคลินิก ร่วมกับกองการแพทย์
- ร่วมเป็นคณกรรมการตรวจการป้องกันอุบัติภัย
- มีชมรมกีฬาต่างๆ
3. กรณีตัวอย่างของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด
บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด สบู่ แชมพ๔ ยาสีฟัน ไอศครีม และชา เป็นต้น มีพนักงานกว่า 2,000 คน โดยมีโรงงานทั้งหมดอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง สำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทได้ดำเนินการ เพื่อปรับปรุงพัฒนาคน และองค์กร ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพ และความสุขสบายของพนักงานในองค์กร โครงการ / กิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย
ก. บริษัทปลอดบุหรี่
ในปี พ.ศ.2533 ประธานบริษัทในขณะนั้น ประสงค์ที่จะให้พนักงานทุกคน พ้นจากพิษภัยของบุหรี่ จึงก่อให้เกิดโครงการลีเวอร์ปลอดบุหรี่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน
- เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งผู้สูบ และไม่สูบ
- เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
- เพื่อลดภาระการดูแลรักษาความสะอาด
- เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เยาวชน พนักงานใหม่และบุตรหลานของพนักงาน
- เพื่อนำความสำเร็จของโครงการ ไปเป็นตัวอย่างแก่ชุมชน
การดำเนินการแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการ
- ศึกษารูปแบบวิธีการจากหน่วยงานต่างๆ
- รวบรวมความรู้ วิสดุอุปกรณ์ เพื่อการเผยแพรประชาสัมพันธ์
- สำรวจหาสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่ในบริษัท ซึ่งพบว่า ในต้นปี พ.ศ.2534 มีผู้สูบถึงร้อยละ 33
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างแนวร่วม
เพื่อหาแนวร่วม และลดการต่อต้านโครงการ เน้นเป้าหมายไปที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า โครงการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกระตุ้นให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ เห็นถึงพิษภัยของควันบุหรี่ และรู้จักปกป้องตนเอง ดยเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือ ชักชวนผู้ที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบ
มีการประชุมชี้แจง ฝ่าบริหาร ตัวแทยพนักงาน และสหภาพแรงงาน และมีการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในที่ทำงาน และเผยแพร่ถึงวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ผลปราหฎว่า ภายในหนึ่งปีที่รณรงค์ มีผู้สูบบุหรี่ลดลงไปเหลืออยู่ที่ร้อยละ 22 จากร้อยละ 33 เมื่อเริ่มโครงการ
ขั้นตอนที่ 3 การช่วยเหลือผู้ที่สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่
ได้มีการจัดอบรมสัมมนา การอดบุหรี่ โดยใช้ทีมงานจากโรงพยาบาลมิชชั่น และหน่วยอาชีวอนามัยได้จัดตั้ง คลินิกอดบุหรี่ขึ้น ในปี พ.ศ.2535
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่ให้น้อยลง
ในปี พ.ศ.2536 คณะกรรมการบริหารโรงงาน คณะกรรมการตัวแทนพนักงาน สหภาพแรงงาน มีความเห็นตรงกันในการค่อยๆ ลดพื้นที่สูบบุหรี่ให้เหลือน้อยลงเป็นลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2537 บริษัทฯ จึงสามารถประกาศให้โรงงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ได้ และกลางปี 2538 ทั้งโรงงาน และสำนักงานก็เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 5 การธำรงรักษาสภาพปลอดบุหรี่
ผลการดำเนินการพบว่า ประสบผลสำเร็จด้วยดี สถานที่ทำงานปลอดจากควันบุหรี่ พนักงานมีสูบบุหรี่เหลือเพียงร้อยละ 10 ในปี พ.ศ.2538 ขณะนี้ บริษัทฯ ก็ยังติดตามช่วยเหลือผู้ที่สูบ ให้เลิกสูบอย่างต่อเนื่อง และป้องกันไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้น การสำรวจที่โรงงานในปี พ.ศ.2541 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่เหลือประมาณร้อยละ 5 และจากความสำเร็จของโครงการ ลีเวอร์ปลอดบุหรี่ บริษัทได้ขยายงานไปสู่โครงการ พฤติกรรมสุขภาพด้านอื่นๆ
ข. ลีเวอร์ นายจ้างที่พึงปรารถนา
ในช่วงปี พ.ศ.2530-2535 ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคนี้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็ว มีการเปิดกิจการใหม่ๆ จำนวนมาก จึงเกิดการดึงตัวพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ จากบริษัทที่ดำเนินการมานาน เช่น ยูนิลีเวอร์ ไปสู่บริษัทที่เปิดใหม่
เพื่อให้ยูนิลีเวอร์ สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ จึงได้มีการศึกษาหาวิธีการ และพบว่า ยูนิลีเวอร์จะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีวิสัยทัศน์ใหม่ ที่จะต้องดูแลพนักงานให้สามารถทำงานได้ดี มีความสุข ความพอใจในการอยู่กับบริษัทฯ จึงได้เกิดโครงการ และกิจกรรมอีกจำนวนมากตามมา เพื่อทำให้วิสัยทัศน์นี้เป็นจริง และได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา เช่น
การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการพัฒนาองค์กรให้เติบโต ของพนักงาน และคู่ค้า และการให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค และสังคม สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการมีวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม
การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ การจัดหน้าที่ และสายการบังคับบัญชาใหม่ ปรับปรุงระบบการประเมินผลงาน จัดทำคำอธิบายลักษณะงาน และหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดแนวทางความก้าวหน้า ในตำแหน่งงาน และอาชีพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
พัฒนาการสื่อสารในองค์กรให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบายเป้าหมายกิจกรรม และผลงานต่างๆ จะถูกถ่ายทอดไปถึงพนักงานทุกคน โดยรวดเร็ว สม่ำเสมอ ด้วยวิธีการต่างๆ เข่น จดหมายข่าว สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางคอมพิวเตอร์ การประชุม เสียงตามสาย และยังได้ส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และการเปลี่ยนแปลงในบริษัท มากขึ้นด้วยกลไกต่างๆ เช่น การแจ้งข่าวต่อลงไปเป็นลำดับ จากคณะกรรมการอำนวยการ ไปสู่ผู้จัดการ และพนักงาน แล้วรับความคิดเห็นข้อเสนอย้อนกลับคืน สู่คณะกรรมการดำเนวยการ หรือการทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่องต่างๆ อยู่เป็นประจำ
การพัฒนาการบริหารงาน และการบังคับบัญชาของหัวหน้า ให้มีคุณภาพ ให้ได้ผลงานดยไม่เพิ่มความเครียด ให้ลูกน้องโดยไม่จำเป็น ด้วยโครงการบัญญัติ 10 ประการ สำหรับผู้นำ
การพัฒนาคนในองค์กรให้มีอุปนิสัยที่ดี เป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูง โดยโครงการเจ็ดอุปนิสัยของผู้มีประสิทธิภาพสูง (7 habits for highly effective people)
การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ด้วยโครงการ 5 ส. และการปรับปรุงตกแต่ง ภายในสำนักงานใหม่
การสร้างทีมทำงานข้ามสายงาน และหน้าที่ ร่วมกันทำงานต่างๆ ของบริษัทขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อย่างไม่เคยทำมาก่อนในอดีต ทำให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไว้วางใจ ยอมรับนับถือ ให้ความร่วมมือ และทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น
ผลการดำเนินการจากการสำรวจแต่ละปี พบว่า พนักงานมีความสุข ความพึงพอใจกับสิ่งต่างๆ ในบริษัท และชีวิตของตนเองมากขึ้น เป็นลำดับทุกปี
ค. ลีเวอร์ เพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย และสุขอนามัย ในการทำงาน มุ่งสู่ผลผลิตระดับสากล
เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น การแข่งขันในตลาดมีมาก ลูกค้า และผู้บริโภคมีความต้องการสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ ในราคารที่เป็นธรรม ยูนิลีเวอร์จึงมีการพัฒนาการผลิต ไปสู่ระดับที่เป็นสากล คือ มีผลผลิตสูง คุณภาพตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ และพนักงานมีความปลอดภัย และสุขภาพอนมัยดี จึงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพิ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เมื่อมีการนำวิธีการพัฒนาแบบ Total Productive Maintenance (TPM) เข้ามาใช้ ทำให้เกิดโครงการกิจกรรมต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก เช่น
การฝึกอบรมดูงาน TPM ของผู้จัดการ หัวหน้างาน และแกนนำพนักงาน ฝึกอบรมให้พนักงานทุกคนมีความสามารถ ในการวิเคราะห์ปัญหา วางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขวิธีการให้เหมาะสม (การอบรม PDCA) การอบรมตามหน้าที่งาน ของแต่ละการอบรม KYT หยั่งรู้ระวังภัย การอบรมอาชีวอนามัย การปฐมพยาบาล และฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อีกจำนวนมาก รวมทั้งการบริหารและประเมินผลความปลอดภัย และสุขภาพด้วยระบบ ISRS
การจัดทำนโยบาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน ให้ชัดเจนเป็นเอกสาร จนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9002
การใช้วิธีการทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ให้ร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหา การทำงานของกลุ่ม และมีการทำงานเป็นทีมในระดับต่างๆ อย่างหว้างขวาง มากกว่าที่เคยเป็นมา
ผลการดำเนินการ แม่จะยังไม่บรรลุถึงขั้นสุดท้าย แต่ก็เห็นผลชัดเจนว่า สถานที่ทำงาน เครื่องมือเครื่องจักร สะอาดเป็นระเบียบ ผลผลิตและคุณภาพสูงขึ้น ส่วนอุบัติเหตุลดลง จนสามารถทำการผลิตได้ถึง 4,600,000 ชั่วโมงต่อคน โดยไม่มีอุบัติเหตุที่ต้องหยุดงาน เมื่อต้นปี พ.ศ.2542 และได้รับรางวัลถ้วยทองด้านความปลอดภัย จากบริษัทแม่
ง. ลีเวอร์ใส่ใจในชุมชน
หลังจากที่บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ใหม่ จากเดิมที่ไม่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน นอกจากความสัมพันธ์เชิงการค้าเท่านั้น ก็เปลี่ยนมามุ่งสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยเริ่มมีการแต่งตั้งผู้จัดการกิจการชุมชนขึ้นมาม ทำหน้าที่เฉพาะเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในปี พ.ศ.2535 โดยวางแผนจัดทำโครงการสนับสนุน กิจกรรมของชุมชน และสังคมด้านต่างๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม่ 1 ล้านต้น ในภาคต่างๆ ของประเทศ การทำสวนหย่อม และสวนสาธารณสุขจำนวนนับสิบแห่ง ในกรุงเทพฯ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในชนบท จำนวนนับพันคน การร่วมมือสนับสนุนหน่วยงานราช ในการรณรงค์เรื่องต่างๆ และสงเคราห์ผู้ประสบภัย เป็นต้น
ผลการดำเนินงาน ทำให้ยูนิลีเวอร์เป้นที่ยอมรับของหน่วยราชการ และสังคมว่า เป็นองค์กรใส่ใจ และห่วงใยสังคม
โดยสรุป บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด แม้ว่าจะยังดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีองค์ประกอบที่ทำงานสุขภาพครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย กฎระเบียบ ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีกระบวนการสร้างทักษะด้านต่างๆ ให้พนักงาน รวมทั้งด้านสุขภาพ มีกลุ่มพลังต่างๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และมีบริการสุขภาพ ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค
4. กรณีสถานประกอบการขนาดกลาง และเล็ก ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ
จากรายงานการศึกษาของ ดร.เกษม นครเขตต์ และคณะ ในสถานประกอบการ 35 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ในอุตสาหกรรมประเทศต่างๆ ได้แก่ อิเล็คทรอนิกส์ การแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งทอ อุปกรณ์กีฬา และวัสดุก่อสร้าง ในสถานประกอบการที่ให้บริการ ได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาลเอกชน พบว่า สถานที่ทำงานเอกชนหลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีระบบการผลิต และการบริหารจัดการองค์กรทันสมัย ได้มีการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ ให้แก่บุคลากรขององค์กร ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกสิ่งที่ทำนั้น คือ การส่งเสริมสุขภาพ โดยทั่วไป ถือว่า กิจกรรมที่ทำเพื่อการป้องกัน ปัญหาจากการทำงาน ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของคนทำงาน ก็จัดเป็นการดำเนินงานอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ซึ่งพบว่า สถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการ เพราะมีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น จะถือว่าเป็นสวัสดิการที่จัดให้แก่คนทำงาน ในสถานที่ทำงาน เช่น การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้สวยงามร่มรื่น จัดบริการอาหารราคาถูก บริการรถ รับ-ส่งพนักงาน บริการที่พัก ฝึกอบรมเรื่องโรคเอดส์ และโรคตามฤดูการ และพบว่า ทุกแห่งให้ความสำคัญ กับการออกกำลังกาย บางแห่งมีกิจกรรมที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยการฝึกสมาธิ มีการจัดงานในเทศกาลต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างบุคลากรในองค์กร
กล่าวโดยสรุป จากการศึกษาพบว่า แต่ละองค์กรมีระดับการพัฒนา ด้านการสร้างเสริมสุขภาพแตกต่างกัน แต่ถ้านำมาร่วมกันก็พบว่า มีกิจกรรมที่อยู่ในกลยุทธ์ การส่งเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา ดังต่อไปนี้
- มีการกำหนดนโยบาย เพื่อสุขภาพของคนทำงาน และเห็นว่า สุขภาพที่ดีของคนทำงาน จะมีผลดีต่อประสิทธิภาพของการผลิต
- มีการสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคา ที่เอื้อต่การมีสุขภาพดี
- มีการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ให้แก่พนักงาน ทั้งด้านการทำงาน และด้านสุขภาพ
ในส่วนของกลยุทธ์ด้านการปรับเปลี่ยนบริการสุขภาพ ในสถานประกอบการ และการสร้างกิจกรรมของชุมชน และการรวมกลุ่มของพนักงานให้เข้มแข็ง ยังไม่ปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจน
5. การสร้างเสริมสุขภาพ ของ REWE
REWE เป็นบริษัทค้าส่ง และค้าปลีก อยู่ในยุโรป มีโรงงานหลายแห่ง และสาขามากมายทั่วประเทศ มีพนักงาน 85,000 คน
เนื่องจากพนักงานมีปัญหา เรื่อง ปวดหลัง และโรคความผิดปกติที่เกิดจาก การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง องค์กรประกันสุขภาพให้แก่พนักงานของ REWE จึงได้แนะนำโครงการส่งเสริมสุขภาพ เข้าไปในปี พ.ศ.2533 โดยตั้งคณะทำงานส่งเสริมสุขภาพของบริษัทขึ้น เพื่อทำหน้าที่วางแผน และควบคุมโครงการต่างๆ ต่อไปนี้
- โครงการเกี่ยวกับการยะศาสตร์ เพื่อป้องกันการปวดหลัง และกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยการฝึกอบรม และให้ความรู้
- โครงการอบรมเรื่อง การบริหารหลัง
- การให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการรับประทานอาหารเป็นรายบุคคล โดยทางโทรศัพท์ และตอบจดหมาย
- จัดสัปดาห์สุขภาพหมุนเวียนไปตามสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ
- โครงการโรงอาหารสุขภาพ การให้ความรู้เรื่องอาหารสุขภาพ และจัดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ให้พนักงาน
- การฝึกอบรมด้านการทำงานให้พนักงานใหม่
- จัดตั้งกลุ่มงานสุขภาพขึ้น ตามแผนกต่างๆ ของบริษัท เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาวิธีการ แก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง กับการทำงาน
- โครงการป้องกันการใช้สารเสพย์ติด มีการฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแก่ผู้เสพย์ติด อย่างเป็นความลับ
- โครงการผู้ใกล้เกษียณอายุงาน ฝึกอบรมเกี่ยวกับสุขภาพ และชีวิตหลังเกษียณ
6. การสร้างเสริมสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมโดยตรง ของพนักงานที่ Hutte Kripp Mannesmann GmbH
H.K. Mannesmann GmbH อยู่ในประเทศเยอรมันนี เป็นบริษัท อุตสาหกรรมเหล็ก ผลิตท่อเหล็ก และเหล็กแผ่น มีพนักงาน 4,000 คน
ในปี พ.ศ.2534 ฝ่ายจัดการ และสหภาพแรงงงานได้ตกลงกันว่า จะจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ในที่ทำงานโดยการมีส่วนร่วมโดยตรง ของพนักงาน จึงเกิดมีกิจกรรมต่างๆ ตามมา ดังต่อไปนี้
- มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงสุขภาพ ของพนักงาน เริ่มโดยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลหาปัจจัยเสี่ยง และเสนอวิธีการลดปัญหาสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน คณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้จัดการโรงงาน ฝ่ายความปลอดภัย ทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารองค์กรประกันสุขภาพ แพทย์ ของบริษัท นักการยะศาสตร์ และสมาชิกจากสหภาพแรงงาน จำนวน 3 คน
- จากการวิเคราะห์ พบว่า มีจำนวนพนักงานที่มีสุขภาพไม่พร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น จึงมีการจัดตั้งกลุ่มงานสุขภาพขึ้นมาหลายกลุ่ม ทำการปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงาน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เรื่องการยะศาสตร์ ความร้อน ฝุ่น และความเครียด
- องค์กรประกันสุขภาพ จัดการฝึกอบรม เรื่อง การบริหารหลัง และการคลายเครียด
- มีการรณรงค์ โดยฝ่ายการแพทย์ และฝ่ายฝึกอบรม ในเรื่อง เอดส์ สารเสพย์ติด อาหาร และออกกำลังกาย
- มีการจัดสัปดาห์โภชนาการ โดยการให้ข้อมูลด้านโภชนาการ และจัดอาหารสุขภาพในทดลองชิม
ผลดำเนินการ พนักงานตอบสนองดี ต่อกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น อย่างไรก็ตาม การหวังผลที่จะลดการเจ็บป่วยคงต้องรอเวลาให้นานพอ จึงจะประเมินได้
7. โครงการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการขนาดเล็ก ในแคนาดา
ในบริติสโคลัมเบีย บริษัทเล็กๆ มากกว่าร้อยกลุ่มธุรกิจ เช่น ร้านขายของชำ โรงพยาบาล โรงเลื่อย ร้านค้าปลีก เป็นต้น ได้เลือกรวมกลุ่มธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน ทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน จากภาคธุรกิจเหล่านั้น เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่น องค์การบริหารท้องถิ่น และศูนย์นันทนาการของชุมชน ร่วมกันผลักดันให้เกิด โครงการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เกิดขึ้น การรวมตัวกันของกลุ่มธุรกิจ ทำให้มีพลังในการดำเนินงาน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์มากขึ้น การทำโครงการ และใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้มีกิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้นได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน เช่น การฝึกอบรม การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนันทนาการ เป็นต้น
|